ใครๆ ก็บอกว่าพลาสติกเป็นผู้ร้าย แต่สุดท้ายฉันเองนั่นแหละที่ทำไม่ได้ เพราะยังไงโลกเราก็ต้องพึ่งพาและนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างสิ่งอื่นๆ อยู่ดี ดังนั้นความสำคัญจึงไม่ใช่แค่การพยายามเลี่ยงใช้ แต่เป็นการใช้พลาสติกตัวที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ต่างหาก คำถามตามมาก็คือ แล้วพลาสติกตัวไหนล่ะ ที่จะนำกลับมารีไซเคิลได้ ไม่ต้องเป็นห่วงไป วันนี้ Mango Zero ก็จะพาทุกคนไปรู้จักกับ 7 ประเภทพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้กัน
หากเป็นพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ จะมีสัญลักษณ์ที่ถูกกำหนดโดย สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกแห่งอเมริกา (The Society of the Plastics Industry, Inc.) เป็นลูกศรต่อกันเป็นสามเหลี่ยม มักอยู่ที่ท้ายขวด หรือตรงฉลาก และข้างในเป็นตัวเลข1- 7 ซึ่งแสดงถึงประเภทต่างๆ ของพลาสติก ดังนี้
เริ่มกันที่หมายเลข 1 PETE หรือ PET ที่ไม่ได้แปลว่าสัตว์เลี้ยง แต่เป็น “พอลิเอทธิลีนเทเรฟธาเลท” (Polyethylne Terephthalate) (อ่านเสร็จก็ลงความเห็นโดยพร้อมเพรียงว่า กลับไปอ่านเพ็ทเหมือนเดิมกันเถอะ) เป็นพลาสติกใสๆ แข็งแรง สามารถกันการซึมผ่านของแก๊สและน้ำได้ จึงมักถูกนำมาใช้เป็นขวดบรรจุของเหลว อาทิ ขวดน้ำเปล่า ขวดน้ำอัดลม หรือขวดปรุงอาหาร
PETE หรือ PET สามารถนำมารีไซเคิลเป็นเส้นใยเพื่อทำเสื้อกันหนาว พรม และใยสังเคราะห์ต่างๆ
ถัดมาเป็น HDPE หรือที่มีชื่อเรียกเท่ห์ๆ ว่า พอลิเอธิลีนความหนาแน่นสูง ( High Density Polyethylene) และเพราะความหนาแน่นสูงนี่เอง จึงทำให้มีคุณสมบัติเหนียวแน่น และแตกได้ยาก ค่อนข้างมีความแข็งแรง จึงกลายมาเป็นขวดสำหรับสารเคมีบางชนิด อย่างผลิตภัณฑ์ซักผ้า ขวดแชมพู น้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือกระปุกยา
HDPE สามารถนำมารีไซเคิลเป็น ขวดน้ำมันเครื่อง พลาสติก ท่อ ลัง ไม้เทียม เป็นต้น
ใช่แล้ว ท่อพีวีซีสีฟ้าที่เราคุ้นเคยกันดี มีชื่อจริงเป็นทางการว่าโพลีไวนิล คลอไรด์ (PVC) ที่จริงแล้วพลาสติกชนิดนี้ ไม่ได้มีแค่แบบท่อน้ำเท่านั้น แต่ยังมีการนำไปทำอย่างอื่นอีกด้วย อาทิ ของเล่นเด็ก แฟ้มใส่เอกสาร หนังเทียม และแผ่นฟิล์มห่ออาหาร โดยพลาสติกชนิดนี้ถือได้ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพราะมีคลอรีนที่สามารถกลายเป็นสารพิษตกค้างเป็นองค์ประกอบหลัก
PVC สามารถรีไซเคิลเป็น รางน้ำสำหรับการเกษตร เฟอร์นิเจอร์ เคเบิล หรือกรวยจราจร
เมื่อมีความหนาแน่นสูง ก็ต้องมีความหนาแน่นต่ำ ใช่แล้ว LDPE ย่อมาจาก “พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ” (Low Density Polyethylene) นั่นเอง แม้จะไม่ค่อยทนต่อความร้อน แต่ก็นิ่ม เหนียว และยืดได้มาก จึงมักถูกนำมาใช้เป็นฟิล์มห่ออาหาร หลอดพลาสติก หรือถุงพลาสติกหลากหลายประเภท ทั้งเพื่อใส่ของทั่วไป และบรรจุอาหาร
LDPE สามารถรีไซเคิลเป็นถุงสำหรับใส่ขยะ ถังขยะ กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น
มาถึงหมายเลข 5 หน้าตาดี PP ที่ไม่ใช่เกาะ แต่เป็น “โพลีโพพีลีน”(Polypropylene) (ไหนลองพูดอีกสักสามรอบ) ทนต่อความร้อนมากกว่า LDPE คงรูป เหนียว และทนต่อแรงกระแทก จึงมักถูกนำมาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร เช่น จาน ชาม ตะกร้า กล่อง ขวดใส่น้ำ ขวดบรรจุยา
PP สามารถรีไซเคิลเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ อาทิ กล่องแบตเตอรี่ กันชน ไฟท้าย กรวยสำหรับน้ำมัน หรือไม้กวาดพลาสติก
และแน่นอนว่า PS นี้ก็ไม่ได้แปลว่า ปล. แต่เป็นพอลิสไตรีน (Polystyrene) มีลักษณะแข็ง มันวาว และเปราะและแตกหักง่าย มักนำมาใช้เป็นภาชนะบรรจุของไม่หนัก หรือไม่โดนแรงเยอะ อาทิ โฟมบรรจุอาหาร ช้อนส้อมพลาสติก ฝาแก้วกาแฟ
PS สามารถรีไซเคิลเป็นไม้แขวนเสื้อ กล่องวิดีโอ ถาดใส่ไข่ ฉนวนความร้อน หรือแผงสวิตช์ไฟ
หมายเลข 7 ที่จะมีสัญลักษณ์ว่า Other คือพลาสติกที่ไม่ได้อยู่ใน 6 ข้อข้างต้น แต่สามารถใช้ซ้ำได้ เป็นพลาสติกประเภทแข็ง เช่น ขวดนม ขวดน้ำดื่ม ซึ่งต้องระวังสาร BPA (Bisphenol A) ที่อาจปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย และส่งผลต่อระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์ได้
เมื่อใช้ประโยชน์จากขวดพลาสติกเหล่านั้นแล้วจะนำไปรีไซเคิลต่อ อย่าพึ่งทิ้งในทันที ต้องแยกด้วยการไม่ใส่อะไรลงไปในขวด ล้างขวดพลาสติกให้สะอาด ตากให้แห้ง แยกจากขยะอื่นๆ รวมไปถึงแยกทั้งระหว่างฝาและขวดด้วย แม้การแยกขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล อาจเพิ่มขั้นตอนในการใช้ชีวิตมากขึ้น แต่เชื่อเถอะว่าผลตอบแทนที่ได้กลับมานั้นคุ้มเกินคาด และอาจส่งผลต่อโลกของเราให้ดีได้อีกนาน กว่าที่คิด